ที่มาของ โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกหรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “พาราโบล่าโดม” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 “พาราโบล่าโดม” เป็นนวัตกรรมระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบ เรือนกระจกที่พัฒนาขึ้นโดยศาสตราจารย์ ดร.เสริม จันทร์ฉาย ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ พพ. โดยเป็นระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีความเหมาะสมในการทำแห้งผลิตผลทางการเกษตรในเชิงการค้าทั้งในระดับวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมไปจนถึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่
ปัจจุบันหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน สำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศได้นำแบบโรงอบแห้งที่พัฒนามาจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน มาพัฒนาเป็นโครงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัด หรือโครงการพัฒนาจากแหล่งงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทั่วประเทศมีการใช้งานโรงอบแห้งแบบ “พาราโบล่าโดม” มีการขยายผลการใช้งานอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
หลักการทำงาน
จากรูป หลักการทำงานคล้าย ๆ กับปรากฎการณ์เรือนกระจก
โดยจุดที่ 1 จะมีรังสีอาทิตย์หลากหลายความยาวคลื่น เมื่อเคลื่อนผ่านมายังหลังคาของโรงอบแห้งซึ่งทำจากแผ่นโพลีคาร์บอเนต จะมีการสะท้อนรังสีอัลตราไวโอเลตออกไปในจุดที่ 2 แต่รังสีอาทิตย์คลื่นสั้นจะสามารถเคลื่อนที่เข้าสู่ภายในโรงเรือนได้ในจุดที่ 3 เกิดการกระทบและดูดกลืนกับวัสดุต่าง ๆ ที่อยู่ภายในโรงอบแห้งในจุดที่ 4 ทำให้รังสีอาทิตย์คลื่นสั้นมีพลังงานลดลงกลายเป็นรังสีอาทิตย์คลื่นยาว และกลายเป็นรังสีความร้อนหรือรังสีอินฟาเรด ซึ่งรังสีความร้อนดังกล่าวไม่สามารถเดินทางผ่านแผ่นโพลีคาร์บอเนต ออกมาสู่ภายนอกได้ในจุดที่ 5 ทำให้อากาศภายในร้อนขึ้นและถ่ายเทความร้อนไปยังผลิตภัณฑ์ในจุดที่ 6 ทำให้เกิดการระเหยของน้ำในตัวผลิตภัณฑ์ออกสู่อากาศในจุดที่ 7 โดยอากาศชื้นจะมีพัดลมดูดอากาศช่วยในการระบายอากาศชื้นในจุดที่ 8 ซึ่งพัดลมดูดอากาศนี้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ในจุดที่ 9 และอากาศที่มีอุณหภูมิและความชื้นต่ำจากภายนอกจะถูกดูดเข้าไปยังโรงอบแห้งแทนที่อากาศชื้นในจุดที่ 10
ส่วนประกอบและโครงสร้างของระบบโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์
ประโยชน์ที่ได้รับ จากการใช้โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์
1. ลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว เพราะใช้พลังงานแสงอาทิตย์
2. ทุ่นเวลาในการตากแห้งน้อยลงเมื่อเทียบกับการตากแห้งตามธรรมชาติ เพราะในโรงอบมีความร้อนมากกว่า และมีพัดลมช่วยดูดึวามชื้นออกจากโรงอบ
3. ผลผลิตที่ตาก สะอาด ไม่มีฝุ่น ควัน แมลงวัน ลอดภัยจากเชื้อโรคต่าง ๆ
4. ผลผลิตมีสีสันสวยงามโดยเฉพาะการอบกล้วย จะเนื้อนุ่ม และหวานกว่าการตากแห้งตามธรรมชาติ
5. ฝนตกก็ไม่ทำให้ผลผลิตเสียหาย ไม่ต้องรีบวิ่งเก็บเมื่อฝนตก ใช้แรงงานคนน้อย
6. ช่วยให้เกษตรกร หรือผู้มีสินค้าเกษตรในท้องถิ่น แปรรูปได้ง่ายขึ้น สะอาดขึ้น เพิ่มมูลค่าและรายได้ให้ท้องถิ่นหรือชุมชนของท่าน
7. ดูแลรักษาความสะอาดได้ง่าย และสะดวกในการใช้งาน
8. อายุการใช้งานนานเป็น 10 ปี ลงทุนครั้งเดียว ประหยัดต้นทุนเป็น 10 ปี
ข้อเสีย โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์
1. ระยะเวลาในการอบแห้งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในวันที่ทำการอบแห้ง
2. วัสดุที่นำมาใช้ในการก่อสร้างมีราคาค่อนข้างสูง
ระบบโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกแบบ พพ. 3 ขนาด (6X8 ม. , 8X12 ม. , 8X20 ม. )
- ขนาดเล็กกว้าง 6.00 เมตร ยาว 8.20 เมตร สูง 3.25 เมตร (ระบบอบแห้ง พพ.1)
- ขนาดกลางกว้าง 8.00 เมตร ยาว 12.40 เมตร สูง 3.35 เมตร (ระบบอบแห้ง พพ.2)
- ขนาดใหญ่กว้าง 8.00 เมตร ยาว 20.80 เมตร สูง 3.35 เมตร (ระบบอบแห้ง พพ.3)






