ประเทศไทย…เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผักและผลไม้ที่สำคัญจำพวก ทุเรียน ลิ้นจี่ มังคุด ลำไย สับปะรด ฯลฯผลไม้ที่ให้ผลผลิตในฤดูกาล มักจะออกมามากจนล้นตลาด อีกทั้งยังมีปริมาณเกินความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ราคาตกต่ำเกือบทุกปี เกษตรกรที่ลงทุนค่าปุ๋ย ค่ายา เมื่อขายไม่ได้ราคาก็กลายเป็น หนี้กับธนาคารและสถาบันการเงิน…

เกษตรกรหลายรายต้องเข้า…โครงการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร กับทาง สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ถึงหลุดพ้นมาได้

สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลผลิตเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้จัดตั้ง กลุ่มวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลผลิตเกษตรขึ้น โดยทีมงานของ นางสาวชุติมา อัศวเสถียร นางจิตติมา วรรณแก้ว และ นางนารีรัตน์ สุนทรธรรม เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรในการนำผลิตผลมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเก็บไว้บริโภคเองหรือจำหน่ายออกสู่ท้องตลาดให้ได้นานกว่าผลไม้สด…

นางสาวชุติมา อัศวเสถียร บอกว่า ผลไม้อุดมไปด้วยใยอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆได้มากมาย แต่ที่เก็บไว้ได้นานที่สุด ปัจจุบันคือ ผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบ ซึ่งเป็นอาหารว่างที่นิยมกันมากในทุกเพศทุกวัย แต่มีคุณค่าทาง โภชนาการค่อนข้างน้อย ทำให้การรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นประจำอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ…

“…แนวคิดที่ดี ก็คือ การนำเนื้อ ผลไม้เข้าไปรวมอยู่ด้วย กับส่วนประกอบของ เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ เช่น ปลา กุ้ง ฟักทอง เผือก งาดำ งาขาว และยังมีส่วนผสมอื่นๆ เช่น พริกไทย เกลือ แป้งมัน น้ำตาล กระเทียม ผงฟู และ น้ำกับเนื้อผลไม้…เพื่อเป็นการ เพิ่มวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหารให้กับผู้บริโภค…”

น.ส.ชุติมา บอกถึงขั้นตอนการทำว่า…ให้บดผสมน้ำและเนื้อผลไม้ที่ปั่นละเอียด ให้เข้ากับ เครื่องปรุงรส แล้ว จากนั้นนำไปทำให้เป็นรูปทรงตามต้องการ ก่อนจะเข้าเครื่องนึ่งให้สุก  วางทิ้งไว้ให้อุณหภูมิเย็นลง พอนิ่มแต่ไม่ถึงกับแข็งแห้ง ใช้เครื่องมือตัดให้เป็นแผ่นบางๆ นำไปทำให้แห้งอีกครั้งด้วยแสงแดด หรือวิธีอื่นที่เหมาะสม อาจทอดก่อนบรรจุหรือไม่ก็ได้….

ข้าวเกรียบผลไม้…หากจะมี การเติมกุ้งหรือปลา เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหารและรสชาติ แต่จะมีผลต่อ ลักษณะเนื้อของข้าวเกรียบจะทำให้การพองตัวเมื่อทอดลดลง ส่วน ข้าวเกรียบมังสวิรัติเสริมสมุนไพรที่ปริมาณ 3 และ 4% โดยน้ำหนัก จะส่งผลให้ข้าวเกรียบมีคุณภาพด้านสีลดลง

ในการผลิตข้าวเกรียบจากผลไม้ชนิดต่างๆ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลิตผลทางการเกษตร เพื่อการแปรรูปเป็น ผลิตภัณฑ์อาหาร ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

…ดีกว่าปล่อยให้ผลไม้เน่าเสียไป….ตามกาลเวลาอย่างไร้คุณค่า…!!!

ไชยรัตน์ ส้มฉุน

———————————————————————

ส่วนผสม ข้าวเกรียบผลไม้
1. แป้งมัน 70 กรัม
2. เนื้อผลไม้ 50 กรัม (มันม่วง ฟักทอง เผือก กล้วย หรือวัตถุดิบในสวนที่เรามี)
3. น้ำตาล 5 กรัม
4. เกลือ 1 กรัม
5. น้ำเดือด ½ ถ้วยตวง

 

วิธีทำ ข้าวเกรียบผลไม้

  1. บดเนื้อผลไม้ให้ละเอียด
  2. ผสมส่วนผสมของแห้งให้เข้ากัน
  3. ผสมเนื้อผลไม้และแป้ง (ส่วนของแห้ง)
  4. ค่อยๆ เทน้ำอุณหภูมิ 90-100 องศาเซลเซียส ลงในส่วนผสมของแห้ง
  5. นวดส่วนผสมให้เข้ากัน
  6. บรรจุใส่ถุงพลาสติกร้อน ม้วนให้มีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก
  7. นำไปนึ่งเป็นเวลา 1 ชั่วโมง (ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางแท่ง 4 เซนติเมตร)
  8. แช่เย็นเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
  9. หั่นข้าวเกรียบ ความหนา 1 มิลลิเมตร
  10. นำไปอบแห้งด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ 1 วัน
  11. นำมาทอด จนสีเหลือง กรอบ 
  12. ตักขึ้นมาวางพักไว้บนตะแกรงหรือวางบนกระดาษซับมัน
  13. แพ็คในบรรจุภัณฑ์สวยงาม เพื่อจำหน่าย

ตัวอย่าง แพ็คเก็ตจิ้งสวยๆในตลาด